ประวัติวิทยาลัย

ประวัติความเป็นมาวิทยาลัยสารพัดช่างพัทลุง
 
         วิทยาลัยสารพัดช่างพัทลุง  ตามหลักฐานที่ปรากฏว่าตั้งแต่   พ.ศ.2527  สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดพัทลุง  ได้สำรวจความต้องการของประชาชนและได้เป็นผู้ดำเนินการประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการ  เพื่อจัดตั้งโรงเรียนสารพัดช่างพัทลุง    ซึ่งความพยายามได้บรรลุเป้าหมายเมื่อได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่   30   มกราคม  2530    ให้จัดตั้งโรงเรียนสารพัดช่างพัทลุงได้ตั้งแต่  1 ตุลาคม  2529  เป็นต้นไป  และ  นายมารุต  บุนนาค  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ลงนามในการประกาศจัดตั้งโรงเรียนดังกล่าว  นับเป็นโรงเรียนสารพัดช่างแห่งที่  25  ของประเทศไทย ในการพิจารณาที่ที่เหมาะสมสำหรับก่อสร้างโรงเรียนสารพัดช่างพัทลุง  กรมอาชีวศึกษาจึงได้จัดตั้งกรรมการในระดับจังหวัดและกรมขึ้น  2  ชุดจากการประชุมร่วมของคณะกรรมการทั้ง  2  ชุด ซึ่งได้ร่วมพิจารณาเมื่อวันที่ 18  กุมภาพันธ์  2530  โดยมี  ท่านรองอธิบดีบุญเทียม   เจริญยิ่ง   เป็นประธานที่ประชุมมีมติว่าที่ดินที่เป็นส่วนหนึ่งของวิทยาลัยเทคนิคพัทลุงในปัจจุบัน  หรือที่เรียกว่า  บริเวณโรงเรียนการช่างสตรีเดิม 
เป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดที่จะสร้างเป็นโรงเรียนสารพัดช่างพัทลุง  โดย สรุปเหตุผลดังนี้
1.  สามารถจัดตั้งในปี  2530  ซึ่งเป็นการสร้างโรงเรียนเพื่อเฉลิมฉลองในปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุครบ  5  รอบ
2.  เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในย่านชุมชน  ผู้เรียนไปมาสะดวกประหยัดค่าใช้จ่าย
3.  ใช้งบประมาณในการจัดตั้งน้อยในการเริ่มต้นเปิดทำการสอน
          ต่อมากรมอาชีวศึกษาได้มอบหมายให้  นายจำเพาะ    ปุรินทราภิบาล  อาจารย์  2  ระดับ  7
 จากวิทยาลัยเทคนิคพัทลุง  เป็นผู้ประสานงานทำหน้าที่เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสารัดช่างพัทลุง  เมื่อวันที่  7  เมษายน  2530  ซึ่งได้ดำเนินการโดยใช้อาคารกุมารีปราโมทย์  เป็นสำนักงาน  อาคารเรียนชั่วคราว  และกรมมีคำสั่งให้ครูมาช่วยราชการ   8   คน  ซึ่งในปีการศึกษา  2530  ได้เปิดสอนนักเรียนรุ่นที่  1  ซึ่งเปิดเรียนเมื่อวันที่  1   กรกฎาคม   2530  สามารถเปิดรับนักเรียน  นักศึกษาได้  5  แผนกวิชา  คือ
                    {  แผนกวิชาช่างไฟฟ้า
                    {  แผนกวิชาช่างซ่อมเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์
                    {  แผนกวิชาช่างตัดเสื้อสตรี
                    {  แผนกวิชาพิมพ์ดีด
                    {  แผนกวิชาเสริมสวย
ทั้งนี้  5  แผนกวิชานี้สามารถรับนักเรียนเข้าเรียนได้ถึง  247  คน  ซึ่งเป็นข้อมูลแสดงให้เห็นว่า
มีผู้สนใจสมัครเรียนเป็นจำนวนมาก
          สำหรับด้านงบประมาณค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างในปีงบประมาณ  2530  ทางโรงเรียนสารพัดช่างพัทลุงได้รับเงินยอดนี้ทั้งสิ้น  3,000,000  บาท  และจะได้รับเพิ่มเติมปี  2531  อีกเป็นเงิน  11,284,000  บาท  ทางกรมอาชีวศึกษาได้ดำเนินการเปิดซองประมูล เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม  2530  โดยมีรายการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น  5รายการ คือ
                    1.  อาคาร  4  ชั้น                              2   หลัง
                    2.  โรงอาหารและหอประชุม                 1   หลัง
                    3.  บ้านพักครูแฟลต  4  ชั้น                 1    หลัง
                    4.  ประตูรั้ว  และถนนคสล.
                    5.  เสาธง                                        1    หน่วย
 
          ทำเนียบผู้บริหารวิทยาลัยสารพัดช่างพัทลุง
1.  นายจำเพาะ           ปุรินทราภิบาล             พ.ศ. 2530-2531
2.  นายสุวพันธ์            สุนทรวงศ์                  พ.ศ. 2531-2540
3.  นายมนตรี             อุยยะพัฒน์                 พ.ศ. 2540-2546
4.  นายอนันต์             จันทรภาโส                 พ.ศ. 2546-2550
5.  นางสงบ                พรหมจินดา                พ.ศ. 2550-2551
6.  นายสุรพล              เอี่ยมสำอาง                พ.ศ. 2551-2552
7.  นางวรรณา            โกสิยาภรณ์                 พ.ศ. 2552-2557
8.  นายสมชาย            นวลใย                      พ.ศ. 2557-2559
9.  นายสมศักดิ์            แพรกม่วง                   พ.ศ. 2559-2563
10. นายศิริวัฒน์          รักสกุล                      พ.ศ. 2563-2565
11. นายภัทธาวุธ          โพธา                        พ.ศ. 2565-2566
12. นางสาวสุภัคคณิศร   รุ่งเรือง                      พ.ศ. 2566-ปัจจุบัน